แรงงานมีเฮ! ทักษะถึง ได้ค่าจ้างสูงสุดวันละ 800 บาท - กพร.ลุยเพิ่ม 13 อาชีพ มีค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ
นายเดชา พฤกษ์พัฒนรักษ์ อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เปิดเผยว่า กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน ได้ดำเนินการพัฒนายกระดับทักษะฝีมือแรงงานให้มีมาตรฐานสากลเป็นที่ยอมรับของตลาดแรงงานทั้งในและต่างประเทศ โดยร่วมกับหน่วยงานอื่น ๆ ทั้งสภาอุตสาหกรรม องค์กรวิชาชีพ สถาบันการศึกษา ในการร่วมกันกำหนดเพื่อจัดทำมาตรฐานฝีมือแรงงานในแต่ละสาขาอาชีพของประเทศไทย ซึ่งเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการพัฒนาฝีมือแรงงานทุกมิติ สามารถผลิตแรงงานรองรับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี AI ระบบ Automation และ Digital Transformation ส่งผลดีต่อการเติบโตของเศรษฐกิจและสังคม โดยเมื่อเร็ว ๆ นี้ คณะรัฐมนตรี รับทราบประกาศคณะกรรมการค่าจ้าง เรื่อง อัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ (ฉบับที่ 14) ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ ซึ่งจะมีผลใช้บังคับ 90 วัน หลังจากประกาศในราชกิจจานุเบกษา สำหรับอาชีพ ที่จะต้องได้ค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือใหม่ เพิ่มเติมอีก 13 สาขา เช่น ผู้ฝึกสอนมวยไทย ระดับ 1 อัตราค่าจ้าง 565 บาทต่อวัน ช่างควบคุมหุ่นยนต์อุตสาหกรรม ระดับ 1 อัตราค่าจ้าง 605 บาทต่อวัน นักเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ (ภาษาซี) ระดับ 1 อัตราค่าจ้าง 700 บาทต่อวัน นักดูแลและบริหารระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ ระดับ 2 อัตราค่าจ้าง 770 บาทต่อวัน และที่ได้ค่าจ้างฯ สูงสุด คือ ช่างเทคนิคเครื่องปรับอากาศสำหรับห้องสะอาด ระดับ 1 อัตราค่าจ้าง 720 บาทต่อวัน ระดับ 2 อัตราค่าจ้าง 800 บาทต่อวัน
นายเดชา กล่าวต่อว่า การกำหนดอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแต่ละสาขาเกิดจากหลายปัจจัย อาทิ เป็นสาขาอาชีพที่ตลาดแรงงานต้องการ เป็นสาขาที่ต้องมีทักษะความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน หรืออาจเกิดจากมีข้อพิพาทเรื่องอัตราค่าจ้าง รวมถึงเป็นสาขาที่กำลังแรงงานที่มีอยู่ในสาขาอาชีพนั้นควรจะพัฒนาทักษะฝีมืออยู่เสมอ สำหรับแรงงานหรือพนักงานในสถานประกอบกิจการที่ต้องการค่าจ้างดังกล่าวสามารถเข้ารับการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานกับหน่วยงานของกรมฯ ได้แก่ สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานและสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงาน รวมถึงศูนย์ทดสอบฯ เอกชนและสถาบันการศึกษาที่ได้รับรองจากกรมฯ มากกว่า 500 แห่งทั่วประเทศ ผู้ที่สนใจสามารถ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่กลุ่มงานส่งเสริมการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน 0 2245 4837 หรือสายด่วนกระทรวงแรงงาน 1506 กด 4 หรือติดต่อผ่าน Inbox เพจ www.facebook.com/dsdgothai
“จากประกาศเพิ่มเติมอีก 13 สาขา ทำให้มีอาชีพที่ได้รับค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือทั้งสิ้น 141 สาขา เป็นการขยายขอบเขตให้ครอบคลุมอาชีพที่ใช้ทักษะฝีมือมากขึ้น กระตุ้นให้แรงงานได้รับค่าจ้างตามฝีมือ ส่วนสถานประกอบกิจการก็มีพนักงานที่มีทักษะตรงกับความต้องการ ลดความสูญเสียในการผลิตได้ชิ้นงานที่มีคุณภาพ ส่วนประชาชนได้รับการบริการที่ดีมีมาตรฐานด้วย” อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กล่าวทิ้งท้าย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น