”เลขาอารี” ลงพื้นที่ขับเคลื่อนนโยบายแรงงาน ดันหลักสูตร “กุ๊กเรือ” ยกระดับฝีมือไทยสู่มาตรฐานสากล
วันที่ 19 พฤษภาคม 2568 นายอารี ไกรนรา เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ตรวจเยี่ยมให้โอวาทผู้เข้ารับการฝึกอบรมยกระดับฝีมือสาขาการจัดการด้านอาหารและโภชนาการบนเรือรุ่นที่ 4/2568 ณ ห้องฝึกอบรม ชั้น 2 อาคารวิทยาลัยการแรงงาน สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 13 กรุงเทพมหานคร กรุงเทพมหานคร โดยมีนายสมชาติ สุภารี รองอธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน นายชัยชนะ เดชแพ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 13 กรุงเทพมหานคร ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ของสถาบันฯ ให้การต้อนรับ
นายอารี ไกรนรา เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า นาย พิพัฒน์ รมว.แรงงาน มีนโยบายส่งเสริมให้แรงงานไทยปฏิบัติตามกฎหมายไทยและกฎหมายระหว่างประเทศ เพื่อไม่ให้กระทบต่อโอกาสและตำแหน่งงาน โดยเฉพาะในตลาดแรงงานต่างประเทศ เช่น ธุรกิจเดินเรือทะเลที่สร้างรายได้เข้าประเทศจำนวนมาก ซึ่งต้องปฏิบัติตามอนุสัญญาระหว่างประเทศอย่างเคร่งครัด รัฐมนตรีจึงมอบหมายให้กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน จัดอบรมหลักสูตรการจัดการด้านอาหารและโภชนาการบนเรือ สำหรับตำแหน่งคนครัวบนเรือ ให้สอดคล้องกับอนุสัญญาแรงงานทางทะเล ค.ศ. 2006 ของ ILO และ พ.ร.บ.แรงงานทางทะเล พ.ศ. 2558 โดยผู้ผ่านการอบรมจะสามารถทำงานบนเรือเดินทะเล เช่น เรือสำราญ เรือขนส่ง เรือรบ และเรือสำรวจต่าง ๆ ได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย
นายเดชา พฤกษ์พัฒนรักษ์ อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เปิดเผยว่า การฝึกอบรมในครั้งนี้ดำเนินการโดยสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 13 กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นหนึ่งในหน่วยงานของกรมฯ ที่ได้รับมอบหมายให้เป็นสถานฝึกอบรมคนครัวบนเรือ มีแผนการฝึกอบรมจำนวน 5 รุ่น 100 คน รุ่นนี้เป็นรุ่นที่ 4 มีสถานประกอบกิจการส่งพนักงานเข้ารับการอบรมจำนวน 15 คน หัวข้อการฝึกอบรมได้แก่ ความรู้พื้นฐานของคนครัวบนเรือ ความปลอดภัยและสุขภาพในการปฏิบัติงาน สุขลักษณะส่วนบุคคลและอาหารทักษะการประกอบอาหาร การป้องกันโรคอาหารเป็นพิษ การจัดการและการควบคุมดูแลครัวการจัดการของเสียในครัว รวมถึงมุมมองด้านศาสนาและวัฒนธรรม ใช้ระยะเวลาการฝึกอบรม42 ชั่วโมง ระหว่างวันที่ 19-24 พฤษภาคม 2568 ผู้ที่สนใจสามารถสมัครฝึกอบรมได้ที่ สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 13 กทม สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ 02-2454317 หรือสายด่วนกระทรวงแรงงาน 1506 กด 4 หรือติดผ่าน Inbox เพจwww.facebook.com/dsdgothai
“หลักสูตรการจัดการด้านอาหารและโภชนาการบนเรือช่วยให้แรงงานทำงานได้ถูกต้องตามกฎหมาย พัฒนาทักษะและบุคลิกภาพในการทำงานบนเรือ ใช้อุปกรณ์ได้อย่างเหมาะสม มีทัศนคติที่ดีต่ออาชีพ และช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้ธุรกิจเดินเรือของประเทศ” นายเดชา กล่าวปิดท้าย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น