บุหรี่ไฟฟ้า: จากผู้ใช้กลายเป็นผู้ต้องหา? ถึงเวลาทบทวนกฎหมายไทย
ในสังคมไทยปัจจุบัน ประเด็นเรื่องบุหรี่ไฟฟ้ายังคงเป็นที่ถกเถียงอย่างกว้างขวาง โดยมีข้อเสนอให้ควบคุมอย่างถูกกฎหมาย แทนการห้ามนำเข้าและจำหน่ายอย่างเด็ดขาดเช่นในปัจจุบัน การควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าให้ถูกต้องตามกฎหมายนั้นสอดคล้องกับแนวทางของหลายประเทศส่วนใหญ่ในโลกที่เปิดรับและกำกับดูแลผลิตภัณฑ์เหล่านี้อย่างเป็นระบบ การพิจารณาเรื่องนโยบายการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าของไทยอย่างรอบด้าน โดยปราศจากอคติ และมองไปยังความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในสังคม รวมถึงประสบการณ์จากนานาประเทศ จึงเป็นสิ่งที่สมควรทำอย่างยิ่ง
แม้องค์การอนามัยโลก (WHO) ซึ่งเป็นหน่วยงานด้านสาธารณสุขระดับโลกจะยังไม่มีข้อสรุปที่แน่ชัดในเรื่องการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า แต่การยึดติดกับแนวทางอนุรักษ์นิยมมากเกินไป และท่าทีที่เพิกเฉยต่อการสนับสนุนทางเลือกให้กับผู้สูบบุหรี่ทั้งที่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ชัดเจนจากหน่วยงานสาธารณสุขระดับโลกอย่างองค์การอาหารและยา สหรัฐฯ กระทรวงสาธารณสุขนิวซีแลนด์ และสำนักงานสาธารณสุขอังกฤษ ที่ยืนยันว่าผลิตภัณฑ์เหล่านี้มีศักยภาพช่วยลดอัตราการสูบบุหรี่ลงได้จริง หากมีการควบคุมอย่างเหมาะสม ทำให้เป้าหมายลดการเสียชีวิตจากการสูบบุหรี่ของ WHO ยังห่างไกลจากความสำเร็จ WHO เพิ่งฉลองครบรอบ 20 ปีของกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบ (FCTC) แต่ความเป็นจริงกลับน่าผิดหวัง เพราะการสูบบุหรี่ยังคงคร่าชีวิตผู้คนทั่วโลกมากกว่า 8.5 ล้านคนต่อปี และยังมีผู้สูบบุหรี่กว่า 1.2 พันล้านคน โดยเฉพาะในประเทศรายได้น้อยและปานกลาง
ประเทศไทยซึ่งเดินตามกรอบซึ่งเดินตามกรอบนโยบายของ WHO อย่างเคร่งครัด ด้วยการเลือกที่จะ “แบน” หรือห้ามนำเข้าและจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้า และผลักให้ผู้ใช้หรือผู้ครอบครองบุหรี่ไฟฟ้าเข้าสู่ตลาดใต้ดิน กลายเป็นอาชญากรผู้กระทำผิดกฎหมาย มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับ 4 เท่าของมูลค่าสินค้า หรือทั้งจำทั้งปรับปรับ จึงแทบจะมีผลลัพธ์เรื่องการลดจำนวนผู้สูบบุหรี่ที่ไม่ต่างกัน เพราะจากรายงานของสำนักงานสถิติแห่งชาติฉบับล่าสุด จำนวนผู้สูบบุหรี่ในประเทศไทยลดลงเพียง 1 แสนคนเท่านั้นในระยะเวลา 3 ปี
ลองพิจารณากรณีของผู้เสพยาบ้า ซึ่งกฎหมายไทยมองว่าเป็น "ผู้ป่วย" ที่ควรได้รับการบำบัดรักษา มีกระบวนการนำเข้าสู่สถานบำบัด และให้โอกาสในการกลับคืนสู่สังคม ในทางตรงกันข้าม ผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้ากลับถูกตีตราเป็น "ผู้ต้องหา" ที่อาจต้องเผชิญกับโทษทั้งจำคุกทั้งปรับที่ร้ายแรง ทั้งที่พฤติกรรมการเสพนั้นอาจมีลักษณะคล้ายคลึงกัน คือเป็นการพึ่งพาสารเคมีเพื่อให้เกิดความรู้สึกบางอย่าง คำถามคือ เหตุใดการเสพติดนิโคตินจากบุหรี่ไฟฟ้าจึงถูกมองว่าเป็นอาชญากรรม ในขณะที่การเสพติดยาบ้ากลับได้รับการดูแลในฐานะปัญหาสุขภาพ?
ความแตกต่างนี้ยิ่งน่าสงสัยเมื่อเปรียบเทียบกับสถานการณ์ระดับโลก ประเทศส่วนใหญ่ทั่วโลก "แบน" กัญชา ซึ่งเป็นสารเสพติดที่มีผลกระทบต่อจิตประสาทและร่างกายในหลายมิติ แต่กลับไม่ได้ "แบน" บุหรี่ไฟฟ้าอย่างเด็ดขาดอย่างที่ประเทศไทยทำอยู่ หลายประเทศในยุโรป อเมริกาเหนือ และเอเชีย ได้มีการออกกฎหมายควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าอย่างชัดเจน เช่น กำหนดอายุผู้ซื้อ การควบคุมปริมาณนิโคติน การกำหนดมาตรฐานความปลอดภัยของอุปกรณ์ และการเก็บภาษีเพื่อนำมาพัฒนาด้านสาธารณสุข
เหตุผลเบื้องหลังการควบคุมอย่างถูกกฎหมายในหลายประเทศนั้นมีหลายประการ ประการแรก คือ การยอมรับว่าการห้ามอย่างเด็ดขาดไม่ได้ผลจริง ตราบใดที่ยังมีผู้ต้องการ บุหรี่ไฟฟ้าก็จะยังคงมีการลักลอบนำเข้าและจำหน่ายในตลาดมืด ซึ่งยากต่อการควบคุมคุณภาพและความปลอดภัยของผู้บริโภค ประการที่สอง การควบคุมอย่างถูกกฎหมายจะช่วยให้รัฐบาลสามารถเก็บภาษีจากผลิตภัณฑ์เหล่านี้ ซึ่งสามารถนำไปใช้ในการรณรงค์เพื่อการเลิกบุหรี่ การรักษาผู้ป่วยที่เกี่ยวข้องกับบุหรี่ และการพัฒนาด้านสาธารณสุขอื่นๆ
ประการสำคัญที่สุดคือ การควบคุมอย่างถูกกฎหมายจะช่วยให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพและได้มาตรฐาน มีข้อมูลเกี่ยวกับส่วนประกอบและอันตรายที่อาจเกิดขึ้น รวมถึงมีทางเลือกในการลดความเสี่ยงจากการสูบบุหรี่มวนแบบดั้งเดิม ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่ามีอันตรายร้ายแรงกว่าบุหรี่ไฟฟ้าในหลายด้าน มากกว่าที่จะผลักใสให้ผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้ากลับไปสูบบุหรี่มวนแบบเดิมหรือบุหรี่เถื่อนที่มีราคาถูกกว่า
แน่นอนว่าบุหรี่ไฟฟ้าไม่ใช่สิ่งที่ไร้ซึ่งอันตรายโดยสิ้นเชิง แต่การมองว่าเป็นอาชญากรรมและลงโทษผู้ใช้ด้วยโทษที่รุนแรง อาจไม่ใช่แนวทางที่เหมาะสมและสอดคล้องกับหลักมนุษยธรรม การควบคุมอย่างถูกกฎหมายต่างหากที่จะเปิดโอกาสให้มีการศึกษา วิจัย และทำความเข้าใจผลกระทบของบุหรี่ไฟฟ้าอย่างรอบด้าน รวมถึงการกำหนดมาตรการที่เหมาะสมเพื่อป้องกันผลกระทบทางสุขภาพที่อาจเกิดขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชน
สังคมไทยจึงควรเปิดใจรับฟังและพิจารณาข้อเสนอในการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าอย่างถูกกฎหมาย แทนการจมอยู่กับแนวทางการแบนที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงและนานาประเทศ การเปลี่ยนมุมมองจาก "ผู้ต้องหา" เป็นการจัดการในลักษณะของ "ผลิตภัณฑ์ที่ต้องมีการควบคุม" อาจเป็นก้าวสำคัญในการปกป้องสุขภาพของประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืนกว่า
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น