วันพฤหัสบดีที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2568

สกสว.กระตุก GDP ไทยด้วยกองทุนววน.​ หวังเร่งการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ

 สกสว.กระตุก GDP ไทยด้วยกองทุนววน.​ หวังเร่งการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ

สกสว.จัดเวทีชวนกระตุก GDP ไทยด้วยกองทุน ววน. “ศุภภาส” ชี้ ววน.เป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน แข่งขันได้ในเวทีโลก ชี้นโยบายทรัมป์จะทำให้ไทยปรับตัว และวางยุทธศาสตร์ใหม่ เพื่อคว้าโอกาสและรับมือกับความท้าทายที่เกิดขึ้น 

น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานเปิดงาน Dinner Talk “กระตุก GDP ไทยด้วยกองทุน ววน.” ภายใต้แนวคิด ‘มองจุดร่วม สร้างจุดเปลี่ยน ร่วมสร้าง GDP ไทย ด้วยกองทุน ววน.’ ซึ่งจัดโดยสำนักยุทธศาสตร์แผน ติดตามและประเมินผล สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) เพื่อนำผลการงานวิจัยจากกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) มาช่วยกระตุก GDP ไทย ให้สามารถฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมขับเคลื่อนไม่หยุดนิ่งได้อย่างต่อเนื่องนำไปสู่ความยั่งยืน พร้อมสร้างความตระหนักรู้และความเข้าใจถึงความสำคัญของการวิจัยและนวัตกรรมต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ รวมถึงกระตุ้นให้เกิดการเร่งรัดผลักดันนโยบายและการดำเนินงานที่จะช่วยยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันทั้งในประเทศและในเวทีโลก

น.ส.ศุภมาส ระบุว่า ท่ามกลางความผันผวนของเศรษฐกิจโลกและวิกฤตด้านสิ่งแวดล้อม ประเทศไทยยังมีโอกาสในการสร้างเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ โดยใช้ ววน. เป็นเครื่องมือขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ เช่น การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ตอบสนองความต้องการของประเทศ ได้แก่ งานวิจัยด้านเทคโนโลยีเซนเซอร์และ IoT สำหรับเกษตรกรรม การสร้างอุตสาหกรรมใหม่และการเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า การพัฒนากำลังคนระดับสูงเฉพาะทางและเพิ่มขีดความสามารถของแรงงานเพื่อรองรับอุตสาหกรรมแห่งอนาคต การส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกชน และสถาบันวิจัย เพื่อให้มีสัดส่วนการลงทุนด้านการวิจัยมากขึ้น ทำวิจัยและต่อยอดอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ 

กระทรวง อว. พร้อมสนับสนุนงบประมาณและสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับการวิจัยและพัฒนา การพัฒนาระบบนิเวศที่เอื้อต่อนำงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม โดยเชื่อมั่นว่า ววน. จะเป็นฟันเฟืองสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยแข่งขันได้ในเวทีโลก และช่วยให้เศรษฐกิจในภาพรวมเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืนได้ในอนาคต” รัฐมนตรี อว.กล่าว

ขณะที่ ศ. ดร. นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ประธานกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) เผยว่า การใช้ความรู้ขับเคลื่อนประเทศต้องมีนโยบายที่จัดสรรงบประมาณและทรัพยากรในเรื่องสำคัญ แม้จะมีข้อจำกัดและความท้าทายหลายด้าน แต่ประเทศจะก้าวกระโดดได้ต้องมีสัดส่วนการลงทุนวิจัยและพัฒนาต่อ GDP ร้อยละ 2-4 เพื่อให้มีแรงส่งเพียงพอ แต่ขณะนี้อัตราการลงทุนของไทยอยู่ที่ร้อยละ 1.1 จึงต้องแน่ใจว่าจะสามารถจัดสรรงบประมาณอย่างถูกต้อง เกิดประสิทธิผลและประสิทธิภาพสูงสุด เป็นธรรม รัดกุมรอบคอบและตรงเป้า การจัดงานในครั้งนี้เพื่อให้ผู้บริหารในระบบ ววน. ภาครัฐและภาคเอกชนนำข้อมูลไปขับเคลื่อนในบริบทที่ดูแลอยู่ ขณะที่ สกสว. จะนำเสนอข้อมูลต่อสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เพื่อนำสู่การขับเคลื่อนต่อไป

เช่นเดียวกับ ศ. ดร.สมปอง คล้ายหนองสรวง ผู้อำนวยการ สกสว. ที่กล่าวถึงการทำงานของ สกสว.ยุคใหม่ ว่าเข็มทิศกำลังแปรเปลี่ยนเป็นผลลัพธ์ที่จับต้องได้ ผ่านการขับเคลื่อนและผลงานที่เกิดขึ้นจริง  ได้แก่ การทบทวนแผนและจัดสรรงบประมาณด้าน ววน. งานวิจัยและนวัตกรรมตามเป้าหมายสำคัญทั้งด้านสุขภาพและการแพทย์ ด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม การขับเคลื่อนเชิงประเด็นร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย สร้างความเข้มแข็งของหน่วยงานและบคุลากร การรับมือและการสื่อสารต่อประชาชนในภาวะวิกฤติ เช่น แผ่นดินไหว น้ำท่วม รวมถึงการพัฒนาเครือข่ายและการร่วมทุนกับต่างประเทศ ภาคเอกชนและประชาสังคม และการพัฒนาภายในองค์กร โดยในปี 2568 กองทุน ววน.ได้รับการจัดสรรงบประมาณเพิ่มขึ้นเป็น 19,251 ล้านบาท คิดเป็น 1.14% และหวังว่าสัดส่วนจะเพิ่มขึ้นในปีต่อ ๆ ไป โดยเป้าหมายไม่ใช่แค่สำเร็จ แต่คือการเปลี่ยนแปลงประเทศ 

ในโอกาสนี้ สกสว.ได้เชิญวิทยากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจมาให้มุมมองถึงโอกาสในการใช้การวิจัยและพัฒนานวัตกรรม อันจะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในการยกระดับศักยภาพเศรษฐกิจ เพื่อให้ประชาคมได้เข้าใจถึง “บทบาทของเทคโนโลยีและนวัตกรรมในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย” โดย คุณกฤษณ์ จันทโนทก ประธานกรรมการอำนวยการ สกสว. และประธานเจ้าหน้าที่บริหารธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สะท้อนให้เห็นว่าสิ่งที่ประเทศไทยขาดไม่ใช่ความรู้หรือแรงบันดาลใจ แต่คือ 'ระบบเชื่อมต่อ' ที่เปลี่ยนงบวิจัยให้กลายเป็นนวัตกรรมเชิงเศรษฐกิจได้จริง เราต้องกล้าสร้างเครื่องยนต์ใหม่ให้กับประเทศ การสร้างนวัตกรรมต้องลงทุนกับคุณภาพทุนมนุษย์และสถาบัน ความท้าทายคือต้องทำให้งานวิจัยเกิดผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจอย่างแท้จริง ปัจจุบันประเทศไทยมีงานวิจัยจำนวนมาก แต่ต้องเร่งเสริมการต่อยอดเชิงพาณิชย์ ทั้งนี้ อนาคตของประเทศยังศรัทธาในศักยภาพ ทุน และความรู้ แต่ต้องหาทางเชื่อมโยงและเดินไปด้วยกัน พลังของคนไทยไม่ทิ้งกันในยามคับขันจึงต้องร่วมมือให้เกิดผลลัพธ์ที่จับต้องได้ และต้องวางโครงสร้างใหม่ เชื่อว่าถ้าทุกคนกล้าเปลี่ยน ระบบ ววน.ไทยจะเป็นฟันเฟืองสำคัญให้ไทยประสบความสำเร็จได้

สำหรับ “นโยบายการวิจัยและพัฒนาเพื่อสร้างความยั่งยืนทางเศรษฐกิจ” โดย ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ กสว. และประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ระบุว่าหากไทยต้องการก้าวสู่การเป็นเสือเศรษฐกิจต้องคิดสร้างปัญญา ทำให้สังคมเห็นประโยชน์ การลงทุนในงานวิจัยและนวัตกรรมต้อง ‘ คืนทุนไว ใช้ได้จริง ยิงสุดทาง’ นั่นคือต้องทำโครงการที่ดี ตอบโจทย์เศรษฐกิจและสังคมทั้งที่เห็นผลเร็วและเกิดผลในระยะยาวด้วย รู้ว่าจะขายหรือแข่งขันกับใคร ตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมคือ สถาบันเทคโนโลยีอุตสาหกรรมที่สร้างนวัตกรรมใช้ได้จริง เป็นโมเดลที่ชี้ให้เห็นว่าการวิจัยต้องมีภารกิจชัดเจนและมีความรับผิดชอบ สิ่งที่ต้องทำคือ ตัดงานวิจัยที่ใช้ประโยชน์ไม่ได้ เพื่อให้เกิดความเชื่อถือจากคนในประเทศ โดยก้าวแรกจะต้องตีโจทย์และออกแบบโครงการให้ทะลุ เป็นงานวิจัยที่แก้พัฒนาเศรษฐกิจและแก้ไขปัญหาสังคมได้ มีผู้ใช้ตั้งแต่แรก รวมถึงปรับระบบแรงจูงใจ

นอกจากนี้ สกสว.ยังมุ่งสร้างความตระหนักรู้ถึงความสำคัญของ “การลงทุนภาครัฐและเอกชน: กุญแจสู่การเติบโตของ GDP ไทย” โดย ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ เลขานุการบริษัทและกรรมการบริหารธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) และอดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้เปิดเผยข้อมูลในส่วนนี้ว่า บุญเก่าของประเทศกำลังจะหมด อุตสาหกรรมที่เราเคยเก่งกำลังตกยุค ประเทศไทยต้องลอกคราบ ปลดล็อกและสร้าง ‘บุญใหม่’ เพื่อช่วงชิงคลื่นการลงทุนรอบใหม่ในอาเซียน ซึ่งเป็นโอกาสเดียวในรอบหลายทศวรรษ หากพลาดวันนี้อาจไม่มีโอกาสอีกนาน จากนี้ไปเอเชียและอาเซียนจะเป็นศูนย์กลางใหม่ของโลก จึงต้องก้าวข้าวข้อจำกัดด้วยทักษะของคน นโยบายสำคัญของการเปลี่ยนผ่านอยู่ที่การเปิดประเทศ พัฒนาเทคโนโลยีและโครงสร้างพื้นฐานที่รองรับอนาคต ปฏิรูปกฎระเบียบและระบบราชการ เพิ่มโอกาสในการช่วงชิงการลงทุน เสริมจุดแข็งเดิมและสร้างระบบนิเวศใหม่ เช่น สร้างบุคลากรรองรับห่วงโซ่ของอุตสาหกรรมใหม่ เช่น พลังงานสะอาด สตาร์ทอัพและอุตสาหกรรมแห่งอนาคต และเร่งขยายเขตการค้าเสรีเพื่อเปิดตลาดใหม่และลดการพึ่งพาตลาดเดิม

งาน Dinner Talk “กระตุก GDP ไทยด้วยกองทุน ววน.” จึงสะท้อนให้เห็นถึงพลังของการวิจัยและนวัตกรรมในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยสู่อนาคตที่เติบโตอย่างยั่งยืน ทั้งจากมุมมองของภาครัฐ นักวิชาการ และภาคเอกชน ที่ต่างเห็นพ้องถึงความจำเป็นในการลงทุนเชิงกลยุทธ์ สร้างระบบนิเวศใหม่ที่เชื่อมโยงความรู้ เทคโนโลยี และทุนมนุษย์ เข้าด้วยกันอย่างเป็นระบบ เพื่อให้ประเทศไทยสามารถก้าวข้ามข้อจำกัดเดิม ปลดล็อกศักยภาพใหม่ และช่วงชิงโอกาสจากคลื่นการลงทุนรอบใหม่ในภูมิภาคอาเซียนให้ได้อย่างแท้จริง

การขับเคลื่อนด้วยกองทุน ววน. จึงไม่ใช่เพียงการอัดฉีดงบประมาณเพื่อทำวิจัย แต่คือกลไกในการจุดประกายความเปลี่ยนแปลง สร้างผลลัพธ์เชิงเศรษฐกิจที่จับต้องได้ สร้างคน สร้างนวัตกรรม และสร้างประเทศไทยใหม่ที่แข่งขันได้ในเวทีโลก


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

กรมวิทย์ฯ บริการ เตรียมพร้อมขับเคลื่อนแผนพัฒนาบุคลากร มุ่งสู่องค์กรแห่งความเป็นเลิศทางวิทยาศาสตร์และนวัตกรรม

  กรมวิทย์ฯ บริการ เตรียมพร้อมขับเคลื่อนแผนพัฒนาบุคลากร มุ่งสู่องค์กรแห่งความเป็นเลิศทางวิทยาศาสตร์และนวัตกรรม วันที่ 16 พฤษภาคม 2568  กรมวิ...