“เพิ่มพูน” เปิดประชุมนานาชาติครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ฯ “ICESML 2025” ย้ำ “AI” เป็นผู้ช่วย “ครู” ยังเป็นเป้าสำคัญพัฒนาคุณภาพ-สมรรถนะนักเรียน
รมว.ศธ. “เพิ่มพูน” เปิดประชุมนานาชาติ “ICESML 2025” จัดโดยคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชูความสำคัญ “AI” เป็นผู้ช่วยให้เกิดมิติ เรียนดี มีความรู้ เติมสมรรถนะ ดึงศักยภาพผู้เรียน แต่ไม่ใช่ทั้งหมดของการศึกษา เพราะ “ครู” ยังเป็นเป้าหมายสำคัญต่อการพัฒนาคุณภาพ และสมรรถนะนักเรียนให้มีความพร้อมในทุกด้าน
23 พฤษภาคม 2568 / พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการระดับนานาชาติ ภาวะผู้นำการบริหารระบบการศึกษา ครั้งที่ 4 (The 4th International Conference on Educational System Management Leadership (ICESML2025) ภายใต้หัวข้อ “การกำหนดภาวะผู้นำแห่งอนาคตและปัญญาประดิษฐ์ ในการบริหารระบบการศึกษา (Shaping the Future Leadership and AI in Educational System Management)” ณ ห้องประชุมดวงเดือน พิศาลบุตร คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิ คณบดี วิทยากร นิสิต นักศึกษา ครูและผู้บริหารนักวิชาการภายในประเทศ และนานาประเทศ เข้าร่วมการประชุมกว่า 300 คน
รมว.ศธ. กล่าวในพิธีเปิดว่า ปัจจุบันการศึกษาของเรากำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว มีเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI เป็นกลไกสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆ ซึ่งการประชุมครั้งนี้ นับเป็นเวทีที่ทรงคุณค่าเกิดการแลกเปลี่ยนความรู้ และประสบการณ์ซึ่งกันและกัน เป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์แนวคิดใหม่ๆ และนำไปสู่การกำหนดภาวะผู้นำแห่งอนาคตได้ ดังคำกล่าวที่เคยกล่าวไว้ว่า “มีดคมเพราะหมั่นลับ” แม้เป็นเหล็กดีขนาดไหนก็ตาม แต่หากไม่หมั่นลับ ก็ทำให้ไม่คม ครูและบุคลากรทางการศึกษาก็เช่นกัน ผู้บริหารต้องหมั่นหาความรู้เพิ่มเติม ฝึกฝน ฝึกปฏิบัติบ่อยๆ เพื่อเพิ่มทักษะและสมรรถนะในการทำงาน
การประชุมครั้งนี้ ยังเป็นการเปิดโอกาสให้พวกเราได้รับความรู้ เพื่อพัฒนาตนเอง นำไปสู่การพัฒนาคุณภาพผู้เรียนในอนาคตที่ดียิ่งขึ้น เป็นแนวทางสอดรับกับนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ ประเทศไทย "เรียนดี มีความสุข" เรียนได้ทุกที่ ทุกเวลา (Anywhere Anytime) ยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง นำ AI มาช่วยในการจัดการเรียนการสอน และนำมาใช้ในการพัฒนาระบบบริหารจัดการสถานศึกษา เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ซึ่งปัจจัยความสำเร็จประการหนึ่งคือแนวทางการทำงาน "จับมือไว้ แล้วไปด้วยกัน" สร้างเครือข่ายทางการศึกษา เพื่อร่วมกันพัฒนาผู้บริหาร ครู ให้มีองค์ความรู้ทางด้านการบริหารการศึกษา เป็นผู้นำแห่งอนาคต ที่มีความ “ฉลาดรู้ ฉลาดคิด และฉลาดทำ”
ภายหลังเปิดโครงการ รมว.ศธ. ได้เยี่ยมชมนิทรรศการแสดงผลงานนวัตกรรมของผู้บริหารและครู สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)โดยคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รวบรวมผลงานชั้นนำที่เป็น Best Practices มาร่วมจัดแสดงในโครงการประชุมครั้งนี้ด้วย ทั้งการนำเสนอผลงานในรูปแบบการบรรยายด้วยวาจา (Oral Presentation) และการนำเสนอในรูปแบบโปสเตอร์ (Poster Presentation) ซึ่งจะมีข้อมูลที่เป็นประโยชน์และแนวทางในการสร้างความฉลาดรู้ด้วย AI ปัญญาประดิษฐ์ เป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนพัฒนาคุณภาพการศึกษาและพัฒนาสมรรถนะของตนเองได้
หลังจากเยี่ยมชมนิทรรศการ รมว.ศธ. ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนว่า ขอขอบคุณคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำในการผลิตครูและพัฒนาผู้นำทางการศึกษา ที่ให้เกียรติและมอบโอกาสให้กระทรวงศึกษาธิการได้มีการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ด้วยกัน ต่อไปนี้ ในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการ คิดว่าเราจะได้ประโยชน์ ตอบสนองงานการศึกษาภายใต้แนวคิด ‘เรียนดี มีความสุข’
จากที่เยี่ยมชมผลงาน ยังมีมุมมองและเรื่องอีกหลายเรื่องที่ผมยังไม่รู้ เทียบกับที่การที่ผมลงพื้นที่เยี่ยมชมโรงเรียนต่างๆ จะได้เห็นใน 2 มิติ คือ การเรียนรู้จริง และโปสเตอร์ ซึ่งเรื่องของการศึกษานั้นไม่ได้อยู่ในความรับผิดชอบชองกระทรวงศึกษาธิการเพียงอย่างเดียว แต่เป็นความรับผิดชอบของทุกคน โดยมีผู้บริหารสถานศึกษาและครูเป็นเป้าหมายสำคัญ และอีกส่วนหนึ่งคือเรื่องของนวัตกรรมต่างๆ ซึ่งปัจจุบันได้มีนวัตกรรมการสอนข้ามชาติ จะเป็นพื้นฐานให้เด็กไทยเกิดการพัฒนา มีความกล้า กล้าคิด กล้าทำ โดยเฉพาะสื่อที่จะเป็นเครื่องมือเผยแพร่สิ่งที่ดีให้แก่เยาวชน ในบทบาทของสถานศึกษา จะต้องพิจารณาในการใช้ AI ปัญญาประดิษฐ์ มาใช้เป็นนวัตกรรมในเรื่องของการศึกษา
“สำหรับผม มุมมองของการใช้ระบบ AI คือ ผู้ช่วย ในมิติย่อยก็คือกระบวนการ AI หรือปัญญาประดิษฐ์ คือผู้ช่วยให้เกิดมิติ เรียนดี มีความรู้ เติมสมรรถนะ เพื่อที่จะดึงศักยภาพออกมาเติมสมรรถนะบุคคล แต่ AI ก็ไม่ใช่ทั้งหมดของการศึกษา หากว่าที่เราถาม AI แล้วมองอะไรที่ไม่ใช่ เราจะต้องเข้าไปแก้ ณ วันนี้ ผมก็ยังเข้าใจว่า ครูก็ยังเป็นเป้าสำคัญเพื่อช่วยพัฒนาคุณภาพการศึกษา ช่วยพัฒนาสมรรถนะให้นักเรียนได้มีความพร้อมในทุกๆ ด้าน อย่างไรก็ตามหวังว่าเด็กไทยต่อไปจะมีการยกระดับพัฒนาด้าน AI ได้เท่าทันกับสหรัฐอเมริกาและสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ซึ่งเป็นไปตามแนวทางการทำงาน จับมือไว้ แล้วไปด้วยกัน” รมว.ศธ.กล่าว
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น