วันอังคารที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2568

“คณะอนุกรรมการอำนวยการด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ” เตรียมรับมือพายุ “วิภา”เข้มข้นพร้อมหารือแนวทางรับมือน้ำหลากในลุ่มน้ำเจ้าพระยาช่วงเดือน ส.ค. - ต.ค. 68

 “คณะอนุกรรมการอำนวยการด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ” เตรียมรับมือพายุ “วิภา”เข้มข้นพร้อมหารือแนวทางรับมือน้ำหลากในลุ่มน้ำเจ้าพระยาช่วงเดือน ส.ค. - ต.ค. 68



คณะอนุกรรมการอำนวยการด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ เตรียมพร้อมรับมือพายุ “วิภา” เห็นชอบจัดตั้งศูนย์ส่วนหน้าฯ 


ลุ่มน้ำยม - น่าน ณ จังหวัดสุโขทัย มุ่งแก้ไขอุทกภัยระดับพื้นที่ พร้อมเน้นย้ำต้องปรับแผนจัดสรรน้ำของอ่างเก็บน้ำตามสถานการณ์ฝนอย่างต่อเนื่อง

วันนี้ (22 กรกฎาคม 2568) ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการอำนวยการด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ครั้งที่ 9/2568 โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิและผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม ณ อาคารจุฑามาศ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ และผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ โดยเลขาธิการ สทนช. เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า ในระยะนี้ประเทศไทยจะมีฝนตกเพิ่มขึ้นในหลายพื้นที่จากอิทธิพลของพายุ “วิภา” โดยคาดว่าจะส่งผลให้มีน้ำจำนวนมากไหลเข้าอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่หลายแห่ง ในช่วงวันที่ 23 - 31 กรกฎาคม นี้ เช่น อ่างเก็บน้ำสิริกิติ์ที่คาดว่าจะได้รับน้ำมากถึง 1,373 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) อ่างเก็บน้ำวชิราลงกรณ 1,267 ล้าน ลบ.ม. อ่างเก็บน้ำศรีนครินทร์ 472 ล้าน ลบ.ม. เป็นต้น อย่างไรก็ตาม หน่วยงานได้ดำเนินการเร่งพร่องน้ำออกจากอ่างเก็บน้ำที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบไว้ล่วงหน้าแล้ว เพื่อเตรียมพื้นที่ว่างสำหรับรองรับน้ำหลากได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งจะติดตามและปรับแผนการจัดสรรน้ำตามสถานการณ์ฝนอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ แม่น้ำหลายสายในตอนบนของประเทศยังมีแนวโน้มระดับน้ำเพิ่มขึ้นในช่วงนี้ โดยเฉพาะแม่น้ำสาย จังหวัดเชียงราย บริเวณสะพานมิตรภาพไทย - เมียนมา แห่งที่ 1 ซึ่งเป็นจุดที่มีความเสี่ยง ขณะนี้ระดับน้ำอยู่ในเกณฑ์เฝ้าระวังแล้ว ในขณะที่ระดับน้ำในแม่น้ำอิงและแม่น้ำกกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในบางจุด แต่ยังอยู่ในเกณฑ์ปกติ ในส่วนของแม่น้ำปิง บริเวณสะพานนวรัฐ จังหวัดเชียงใหม่ มีแนวโน้มปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก แต่ยังคงต่ำกว่าระดับตลิ่ง เช่นเดียวกับแม่น้ำวัง แม่น้ำยม แม่น้ำน่าน และแม่น้ำโขงที่คาดว่าจะมีระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นเช่นเดียวกัน ทั้งนี้ ศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้า (ชั่วคราว) ในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยลุ่มน้ำโขงตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดหนองคาย และศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้า (ชั่วคราว) ในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยลุ่มน้ำโขงเหนือ จังหวัดเชียงราย ได้บูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อยกระดับความพร้อมในการรับมือสถานการณ์อย่างเต็มที่แล้ว และในวันนี้ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบให้มีการจัดตั้งศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้า (ชั่วคราว) ในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย ลุ่มน้ำยม - น่าน ณ จังหวัดสุโขทัย เพิ่มเติม เพื่อแก้ไขสถานการณ์น้ำหลากและอุทกภัยในระดับพื้นที่ ทั้งจากอิทธิพลของพายุดังกล่าว รวมถึงปริมาณฝนที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นในช่วงหลังจากนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ







สำหรับปริมาณน้ำในลุ่มน้ำต่าง ๆ ของภาคเหนือที่เพิ่มขึ้นในช่วงนี้ กำลังทยอยไหลลงมาบรรจบที่จังหวัดนครสวรรค์ ส่งผลให้มีมวลน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มขึ้น โดยกรมชลประทานได้แจ้งปรับเพิ่มการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยา ในอัตรา 700 - 1,200 ลบ.ม. ต่อวินาที โดยมีแนวทางในการควบคุมการระบายน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์น้ำในพื้นที่ตอนบนและคำนึงถึงการขึ้นลงของน้ำทะเล และในการประชุมวันนี้ ได้เน้นย้ำให้มีการแจ้งเตือนประชาชนบริเวณท้ายเขื่อนล่วงหน้าหากมีการระบายน้ำเพิ่มขึ้น ซึ่งในช่วงเย็นนี้จะปรับเพิ่มการระบายน้ำจากอัตรา 800 ลบ.ม. ต่อวินาที เป็นอัตรา 900 ลบ.ม. ต่อวินาที นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้หารือเกี่ยวกับแนวทางการบริหารจัดการน้ำเพื่อรับมือปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาใหญ่ ซึ่งคาดว่าจะมีฝนตกหนักในช่วงเดือนสิงหาคม - ตุลาคม 2568 ประกอบกับภาวะน้ำทะเลหนุน ซึ่งแนวทางการบริหารจัดการน้ำมีเกณฑ์ควบคุมปริมาณน้ำไหลผ่านสถานี Y.4 อำเภอเมืองสุโขทัย จังหวัดสุโขทัย ที่ 460 ลบ.ม. ต่อวินาที หากเกินจากนี้ให้ผันน้ำเข้าทุ่งบางระกำในช่วงเดือนกันยายน - ตุลาคม และให้บริหารจัดการน้ำที่ระบายจากอ่างเก็บน้ำภูมิพล อ่างเก็บน้ำสิริกิติ์ และอ่างเก็บน้ำแควน้อยบำรุงแดน โดยควบคุมปริมาณน้ำไหลผ่านจังหวัดนครสวรรค์ ไม่ให้เกิน 2,500 ลบ.ม. ต่อวินาที หากเกินจะผันน้ำเข้าพื้นที่หน่วงน้ำเหนือจังหวัดนครสวรรค์และบึงบอระเพ็ด นอกจากนี้ ให้ควบคุมปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาร่วมกับการบริหารจัดการน้ำเข้าระบบชลประทาน ไม่ให้เกิน 2,000 ลบ.ม. ต่อวินาที หากเกินจะผันน้ำเข้าสู่พื้นที่ลุ่มต่ำฝั่งตะวันออก รวมถึงบริหารจัดการน้ำที่ระบายจากอ่างเก็บน้ำป่าสักชลสิทธิ์ และควบคุมปริมาณน้ำไหลผ่านสถานี C.29B อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี ไม่ให้เกิน 3,000 ลบ.ม. ต่อวินาที หากเกินจะดำเนินการรับน้ำเข้าพื้นที่น้ำนอง โดยได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์การบริหารจัดการน้ำอย่างเคร่งครัด







เลขาธิการ สทนช. กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของสถานการณ์น้ำทะเลหนุนสูงซึ่งจะส่งผลกระทบต่อพื้นที่ที่ไม่มีแนวป้องกันน้ำถาวร (แนวฟันหลอ) และชุมชนนอกแนวคันกั้นน้ำ สทนช. ได้มีการประเมินวิเคราะห์สถานการณ์และประกาศแจ้งเตือนล่วงหน้าอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้หน่วยงานในพื้นที่นำไปดำเนินการเพื่อลดผลกระทบให้ประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ หลังการสลายตัวของพายุ “วิภา” จะยังคงต้องติดตามความต่อเนื่องและความรุนแรงของร่องมรสุมที่มีโอกาสพาดผ่านประเทศไทยอย่างใกล้ชิด โดยประเมินสถานการณ์แบบรายวันเพื่อให้สามารถเตรียมการรับมือได้อย่างทันท่วงที 


สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ

22 กรกฎาคม 2568


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

“คณะอนุกรรมการอำนวยการด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ” เตรียมรับมือพายุ “วิภา”เข้มข้นพร้อมหารือแนวทางรับมือน้ำหลากในลุ่มน้ำเจ้าพระยาช่วงเดือน ส.ค. - ต.ค. 68

  “คณะอนุกรรมการอำนวยการด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ” เตรียมรับมือพายุ “วิภา”เข้มข้นพร้อมหารือแนวทางรับมือน้ำหลากในลุ่มน้ำเจ้าพระยาช่วงเดื...