“สพฐ.” ผนึกกำลัง “ร้อยพลังการศึกษา” ร่วมใจ ผอ. 95 โรงเรียนทั่วประเทศ เดินหน้าสร้างพลังความร่วมมือกับชุมชนเพื่อพัฒนานักเรียนอย่างยั่งยืน
วันที่ 25 เมษายน 2568 ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) มอบหมายให้ นายวิษณุ ทรัพย์สมบัติ ที่ปรึกษาด้านมาตรฐานการศึกษา เข้าร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการกลุ่มผู้บริหารสถานศึกษาในโครงการ “ร้อยพลังการศึกษา” โดยมีผู้อำนวยการจากสถานศึกษาในเครือข่ายโครงการจำนวน 95 โรงเรียนจากทั่วประเทศเข้าร่วม ภายใต้หัวข้อ “พลังความร่วมมือของโรงเรียนและชุมชนในการพัฒนานักเรียน” ณ ศูนย์ประชุมวายุภักษ์ โรงแรมเซ็นทาราไลฟ์ ศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ กรุงเทพมหานคร พร้อมการถ่ายทอดสดผ่านทางเพจ Facebook: ร้อยพลังการศึกษา เพื่อให้โรงเรียนที่ไม่สามารถเดินทางมาเข้าร่วม ได้ร่วมรับฟังและมีส่วนร่วมอย่างทั่วถึง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมบทบาทของโรงเรียนในการทำงานร่วมกับชุมชนเพื่อยกระดับคุณภาพนักเรียน พร้อมเปิดโอกาสให้ผู้บริหารสถานศึกษาได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ และร่วมกันวางแนวทางการพัฒนาที่เหมาะสมกับบริบทของแต่ละพื้นที่
การจัดประชุมในครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนภายใต้ บันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ระหว่างสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และมูลนิธิยุวพัฒน์ ซึ่งได้ร่วมลงนามเมื่อปี 2567 เพื่อขยายผลการใช้ “8 เครื่องมือและนวัตกรรมพัฒนานักเรียน” ของโครงการร้อยพลังการศึกษา ไปสู่สถานศึกษาทั่วประเทศ โดยภายในงานมีการจัดเวทีเสวนาในหัวข้อ “พลังความร่วมมือของโรงเรียนและชุมชนในการพัฒนานักเรียน: ความจำเป็นและการขับเคลื่อนให้เกิดขึ้นจริง” โดยตัวแทนจากภาคีเครือข่ายพัฒนาเครื่องมือของโครงการ พร้อมทั้งการนำเสนอกรณีศึกษาจากสถานศึกษาที่ประสบความสำเร็จในการดำเนินงานร่วมกับชุมชน จำนวน 5 แห่ง และกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันระหว่างผู้บริหารสถานศึกษา เพื่อนำไปสู่การออกแบบแนวทางปฏิบัติที่สามารถดำเนินการได้จริงในพื้นที่ของตน
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ให้ความสำคัญกับการสร้างความร่วมมืออย่างใกล้ชิดระหว่างโรงเรียนและชุมชน เนื่องจากตระหนักถึงปัจจัยสำคัญในการพัฒนานักเรียน ทั้งในด้านคุณภาพการศึกษา ทักษะชีวิต และการดูแลพฤติกรรม โดยเฉพาะในบริบทที่มีข้อจำกัดด้านทรัพยากร เช่น อุปกรณ์การเรียนรู้ การเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต และการมีส่วนร่วมของครอบครัว จึงส่งเสริมให้สถานศึกษาใช้กลไกของชุมชนเป็นพลังสนับสนุนที่สำคัญ ผ่านการประชาสัมพันธ์ การสร้างความเข้าใจ การระดมทรัพยากร และการมีส่วนร่วมอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ สพฐ. มุ่งหวังว่าผลจากการประชุมในครั้งนี้ จะช่วยให้สถานศึกษาในโครงการร้อยพลังการศึกษา มองเห็นแนวทางในการพัฒนานักเรียนที่สอดคล้องกับแนวนโยบายของ สพฐ. และสามารถต่อยอดความร่วมมือกับชุมชนเพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ที่เป็นรูปธรรมและยั่งยืนต่อไป
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น