เลขาธิการ สทนช. ร่วมงาน “Mekong Day 2025” ฉลองครบรอบ 30 ปี ความร่วมมือแม่น้ำโขง
เมื่อวันที่ 24 เม.ย. 2568 ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ตามที่ได้รับมอบหมายจากนายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะมนตรี คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ประจำปี 2568 พร้อมด้วยนางพัชรวีร์ สุวรรณิก รองเลขาธิการ สทนช. ในฐานะผู้แทนคณะกรรมการร่วม คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ดร.วินัย วังพิมูล ผู้อำนวยการกองการต่างประเทศ สทนช. และผู้แทน สทนช. เข้าร่วมงานกล่าวสุนทรพจน์แม่โขง ครั้งที่ 4 และร่วมฉลองครบรอบ 30 ปี การจัดทำความตกลงว่าด้วยความร่วมมือเพื่อการพัฒนาลุ่มแม่น้ำโขงอย่างยั่งยืน ณ ศูนย์การค้า Parkson Mall นครหลวงเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว)
งานกล่าวสุนทรพจน์แม่โขง ครั้งที่ 4 และการเฉลิมฉลองการครบรอบ 30 ปี ในครั้งนี้ ได้รับเกียรติจาก ท่านจันทะเนด บัวละพา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สปป.ลาว ผู้แทนสำรองในคณะมนตรีคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง กล่าวต้อนรับผู้ร่วมงาน ซึ่งประกอบด้วย ผู้แทนสมาชิกคณะกรรมการร่วม คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (กัมพูชา สปป.ลาว ไทย และเวียดนาม) เอกอัครราชทูต หุ้นส่วนการพัฒนา หัวหน้าเจ้าหน้าที่สำนักงานเลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง
เลขาธิการ สทนช. เปิดเผยว่า ในโอกาสการครบรอบ 30 ปีของความตกลงแม่น้ำโขง ไทยเน้นย้ำบทบาทสำคัญของความร่วมมือระดับภูมิภาคภายใต้ความตกลงแม่น้ำโขงปี 1995 ที่ดำเนินมากว่า 30 ปี ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญในการบริหารจัดการลุ่มน้ำโขงอย่างยั่งยืน โดยประเทศไทยยืนยันความมุ่งมั่นในการส่งเสริมความร่วมมือ การพัฒนาอย่างสมดุลระหว่างเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และสังคม และมาตรการลด/บรรเทา ผลกระทบข้ามพรมแดนที่เกิดขึ้นจากการพัฒนาบนลุ่มน้ำโขงและการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ พร้อมเน้นบทบาทของ MRC ในการเป็นเวทีทางการทูตน้ำและแหล่งองค์ความรู้ โดยเน้นความจำเป็นของนวัตกรรม เทคโนโลยี และธรรมาภิบาลที่ดีในการเผชิญกับความท้าทาย เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการใช้น้ำที่เพิ่มขึ้น และการเตรียมพร้อมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน โดยเฉพาะประชาชนริมฝั่งแม่น้ำโขง พร้อมกันนี้ยังแสดงความยินดีกับการแต่งตั้งนางสาวบุษฎี สันติพิทักษ์ ในฐานะ CEO ผู้หญิงคนแรกของสำนักงานเลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ซึ่งสะท้อนถึงความก้าวหน้าด้านผู้นำที่มีความหลากหลายและครอบคลุม
โดยภายในงานผู้เข้าร่วมได้รับชมวีดิทัศน์เฉลิมฉลองการครบรอบ 30 ปี การกล่าวสุนทรพจน์แม่โขง ครั้งที่ 4
กิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ เพื่อแสดงพลังแห่งความร่วมมือของประเทศสมาชิกผ่านการต่อชิ้นส่วนไม้บนภาพวาดที่แสดงถึงความรุ่งเรืองของแม่น้ำโขง รวมถึงการประกาศผลและมอบรางวัลการประกวดเพลงแม่น้ำโขง (Mekong Song) พร้อมการแสดงจากทีมเยาวชนจากประเทศสมาชิก 4 ประเทศ โดยผลการประกวดเป็นทีมเยาวชนจากประเทศไทยได้รับรางวัลชนะเลิศ
โดยงานวันแม่น้ำโขง (Mekong Day) ปีนี้ไม่เพียงแต่เป็นเวทีของผู้มีบทบาทในระดับนโยบาย แต่ยังเปิดพื้นที่ให้ประชาชนโดยเฉพาะเยาวชนและนักศึกษาได้มีส่วนร่วมในการสร้างอนาคตร่วมกันของลุ่มแม่น้ำโขงต่อไป
สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ
25 เมษายน 2568
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น