‘เฉลิมชัย’ เดินหน้าพัฒนาแหล่งเรียนรู้ทางทะเล ตอกย้ำความมุ่งมั่นในการวางรากฐาน สู่การใช้ประโยชน์ทรัพยากรทางทะเลอย่างสมดุล
ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) กล่าวว่า ตนได้นำคณะผู้บริหาร ทส. ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการดําเนินงานของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ระหว่างวันที่ 2 - 3 พฤษภาคม 2568 ณ ท้องที่จังหวัดภูเก็ต ซึ่งในวันนี้ (3 พฤษภาคม 2568) เดินทางมายังศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนบน เพื่อติดตามการดำเนินงานของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พร้อมทั้งรับฟังการรายงานผลการดำเนินงาน ความก้าวหน้า และแนวทางการพัฒนาโครงการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลที่สำคัญ พร้อมติดตามความคืบหน้าโครงการก่อสร้าง “พิพิธภัณฑ์สิ่งมีชีวิตใต้ทะเลไทยเฉลิมพระเกียรติฯ” และเยี่ยมชม “ศูนย์ช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายากสิรีธาร” ภายใต้โครงการอนุรักษ์แนวปะการังและสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลไทยในพระดำริสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา โดยมีนายเผด็จ ลายทอง รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง นายอุกกฤต สตภูมินทร์ รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง นางสาวทิพามาศ อุปน้อย ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนบน ตลอดจนเจ้าหน้าที่กรม ทช. ให้การต้อนรับ “จากการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานในครั้งนี้ แสดงถึงความมุ่งมั่นของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในการส่งเสริมงานด้านวิทยาศาสตร์ทางทะเล การวิจัย และการอนุรักษ์ ซึ่งจะเห็นได้จากกิจกรรมและโครงการที่สะท้อนถึงการพัฒนาองค์ความรู้ ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน และสร้างความตระหนักรู้ต่อความสำคัญของระบบนิเวศทางทะเล ตลอดจนเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญและศูนย์กลางการอนุรักษ์ทรัพยากรทะเลของประเทศสนองพระราชดำริสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เพื่อวางรากฐานสู่การใช้ประโยชน์ทรัพยากรทางทะเลอย่างสมดุลและยั่งยืนในระดับประเทศและภูมิภาคต่อไป”
ด้าน ดร.ปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวว่า ศูนย์ช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายากสิรีธาร มีบทบาทสำคัญในการอนุรักษ์สัตว์ทะเลหายากในประเทศไทย และเป็นศูนย์กลางการฟื้นฟูสุขภาพสัตว์ทะเลที่ได้มาตรฐานสากล โดยในช่วงปี 2562 – 2568 มีการช่วยเหลือสัตว์ทะเลหายากเกยตื้นแล้วถึง 835 ตัว แบ่งเป็น สัตว์ที่ยังมีชีวิตจำนวน 331 ตัว และซากสัตว์ จำนวน 504 ตัว โดยกลุ่มเต่าทะเลเป็นกลุ่มที่พบมากที่สุดถึง 670 ตัว คิดเป็นร้อยละ 80.2 รองลงมาเป็นกลุ่มโลมาและวาฬ จำนวน 125 ตัว คิดเป็นร้อยละ 15 และมีอัตราการรอดชีวิตของสัตว์ทะเลหายากหลังการรักษาสูงถึงร้อยละ 70 ของสัตว์ที่ได้รับการรักษาทั้งหมด นอกจากนี้ ยังมีโครงการสำคัญที่ศูนย์ฯ ได้ดำเนินการ อาทิ โครงการอนุบาลเต่ามะเฟือง ที่มุ่งเน้นการอนุบาล ดูแลให้ลูกเต่ามีสุขภาพแข็งแรงก่อนปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ ปัจจุบันมีลูกเต่ามะเฟืองที่อยู่ระหว่างการอนุบาลในบ่อเลี้ยง จำนวน 12 ตัว อายุประมาณ 1 – 2 เดือน โครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูประชากรปลาฉลามเสือดาวโดยใช้วิธีการเลี้ยงในกระชังทะเล (sea pen) ซึ่งปัจจุบันได้นำปลาฉลามเสือดาวที่มีอายุประมาณ 1 ปี มาเลี้ยงและอนุบาลในบ่อเลี้ยง ฝึกให้กินอาหารเลียนแบบธรรมชาติเป็นเวลาประมาณ 3 เดือน แล้วย้ายให้ไปปรับตัวในคอกทะเลที่เกาะไม้ท่อนเป็นเวลาประมาณ 2 เดือน เพื่อปรับพฤติกรรมก่อนปล่อยกลับคืนสู่ธรรมชาติ
สำหรับโครงการก่อสร้างพิพิธภัณฑ์สิ่งมีชีวิตใต้ทะเลไทยเฉลิมพระเกียรติฯ ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินงานก่อสร้างระยะที่สอง ประกอบด้วยการตกแต่งภายในอาคาร การติดตั้งระบบและงานภูมิสถาปัตยกรรม เพื่อเตรียมพร้อมรองรับการเป็นพิพิธภัณฑ์แห่งแรกของประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่รวบรวมตัวอย่างสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลกว่า 6,000 ชนิด จากน่านน้ำในประเทศและทะเลอาณาเขต รวมมากกว่า 200,000 ตัวอย่าง โดยเป็นตัวอย่างต้นแบบชนิดใหม่ของโลกมากกว่า 250 ชนิด และตัวอย่างสัตว์ทะเลน้ำลึกหายากซึ่งไม่เคยมีการเก็บมาก่อนในประเทศไทย นำมาจัดแสดงในแง่มุมต่าง ๆ ทั้งความหลากหลายของชนิดพันธุ์ ความชุกชุม การแพร่กระจาย ตลอดจนผลกระทบที่สัตว์ทะเลหายากเหล่านี้ได้รับจากกิจกรรมของมนุษย์ นอกจากนี้ ยังเป็นแหล่งเรียนรู้ระดับประเทศที่เชื่อมโยงงานวิจัย องค์ความรู้ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นสถานที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ของนักศึกษาและนักวิจัยปีละไม่ต่ำกว่า 1,000 คน อันจะเป็นการสร้างความตระหนักในการอนุรักษ์และการจัดการที่ยั่งยืนของทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย “ดร.ปิ่นสักก์ กล่าวทิ้งท้าย”
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น