“พิพัฒน์ – วราวุธ” สองกระทรวง ผนึกกำลัง ดันคนพิการมีอาชีพ มีรายได้ ลดเหลื่อมล้ำ สู่สังคมเท่าเทียม
วันที่ 6 พฤษภาคม 2568 นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ร่วมเปิดโครงการและลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) “โครงการส่งเสริมและพัฒนาทักษะอาชีพคนพิการและผู้ดูแลคนพิการสู่ความยั่งยืน” โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ หน่วยงานภาครัฐและเครือข่ายฝีมือแรงงานร่วมสนับสนุน 12 หน่วยงาน มีผู้บริหารหน่วยงานภาครัฐ นายโชคชัย วิเชียรชัยยะ อธิบดีกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ นายเดชา พฤกษ์พัฒนรักษ์ อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ร่วมพิธี ณ ห้องประชุมกระทรวงแรงงาน ชั้น 5 อาคารกระทรวงแรงงาน
นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ภายใต้วิสัยทัศน์ของรัฐบาล นางสาวแพทองธาร ชินวัตร ที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาทุนมนุษย์อย่างทั่วถึง การจับมือระหว่างสองกระทรวงครั้งนี้จึงเป็นก้าวสำคัญในการลดความเหลื่อมล้ำ สร้างโอกาสให้คนพิการมีอาชีพ มีรายได้ และใช้ชีวิตได้อย่างมีศักดิ์ศรีในสังคม ซึ่งประเทศไทยมีคนพิการในวัยแรงงานราว 800,000 คน ซึ่งจำนวนมากยังขาดโอกาสในการเข้าถึงการฝึกอาชีพ กระทรวงแรงงานจึงร่วมมือกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และเครือข่ายฝีมือแรงงานทั่วประเทศ จัดหลักสูตรฝึกอบรมเพื่อเสริมทักษะตามศักยภาพ และส่งต่อไปยังตลาดแรงงานอย่างเป็นระบบ โดยกระทรวงแรงงานได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ร่วมกับบริษัทชั้นนำจำนวน 23 แห่ง เพื่อส่งเสริมการจ้างงานคนพิการอย่างเป็นรูปธรรม โดยมีทั้งรูปแบบที่บริษัทจัดส่งแรงงานคนพิการให้ภาครัฐช่วยฝึกทักษะเพิ่มเติม และการที่ภาครัฐส่งเสริมแรงงานคนพิการที่ผ่านการฝึกอบรมให้มีโอกาสเข้าทำงานในสถานประกอบกิจการที่เหมาะสม ความร่วมมือครั้งนี้ ดำเนินงานโดยบูรณาการระหว่าง กรมการจัดหางาน และ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อกลุ่มแรงงานเปราะบาง โดยเฉพาะคนพิการ ให้สามารถเข้าถึงอาชีพ มีรายได้ที่มั่นคง และมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน
ขณะที่นายเดชา พฤกษ์พัฒนรักษ์ อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ระบุว่า ปี 2568 ตั้งเป้าฝึกอบรมคนพิการและผู้ดูแลคนพิการ 4,328 คน รวม 215 รุ่น ใน 5 กลุ่มอาชีพ ได้แก่ 1. เครื่องดื่มและอาหาร 2. เทคโนโลยีและช่างฝีมือ 3. ศิลปะประดิษฐ์และของที่ระลึก 4. เกษตรและอาหารแปรรูป 5. การขายสินค้าและบริการ โดยหลักสูตรที่เปิดอบรมครอบคลุมทั้งทักษะเฉพาะทาง เช่น การซ่อมรถเข็นคนพิการ การใช้เทคโนโลยีเพื่อค้าขายออนไลน์ การดูแลผู้สูงอายุ และงานบริการต่าง ๆ ซึ่งเมื่อจบหลักสูตร กรมฯ จะประสานงานกับกรมการจัดหางาน และสถานประกอบกิจการ เพื่อให้ผู้ผ่านการอบรมได้มีโอกาสทำงานจริง หรือขอสินเชื่อประกอบอาชีพ
คุณสมบัติผู้สมัคร : มีอายุ 18 ปีขึ้นไป เป็นคนพิการหรือผู้ดูแลที่มีชื่อในบัตรประจำตัวคนพิการ มีความพร้อมฝึกจนจบหลักสูตร สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานทั่วประเทศ (ยกเว้น จันทบุรีและสมุทรสาคร) หรือสายด่วนกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน 1506 กด 4
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น