วันอาทิตย์ที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2568

เฉลิมชัย ห่วงพะยูน ถูกเชือกพันรัด สั่งกรมทะเล เตรียมแผน ‘ตัดเชือกระยะไกล-ล้อมจับ’ เร่งช่วยพะยูนบาดเจ็บที่เกาะลิบง

 เฉลิมชัย ห่วงพะยูน ถูกเชือกพันรัด สั่งกรมทะเล เตรียมแผน ‘ตัดเชือกระยะไกล-ล้อมจับ’ เร่งช่วยพะยูนบาดเจ็บที่เกาะลิบง 

ตามที่เจ้าหน้าที่กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) สำรวจพบพะยูนมีเชือกขนาดประมาณ 2.5 มิลลิเมตร ความยาวไม่น้อยกว่า 3 เมตร พันรัดบริเวณแพนหาง และเกิดบาดแผลสดที่หาง ณ อ่าวบ้านพร้าว เกาะลิบง จังหวัดตรัง เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2568 ที่ผ่านมา ซึ่งทีมสัตวแพทย์ได้พิสูจน์อัตลักษณ์พบว่าเป็นพะยูนตัวเดียวกันกับที่เคยเป็นข่าวพบเชือกพันรัดที่หางเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ล่าสุดดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้แสดงความห่วงใยต่อเหตุการณ์ดังกล่าว จึงได้สั่งการให้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช (อส.) ร่วมกันปฏิบัติการภายใต้ศูนย์ปฏิบัติการร่วมพิทักษ์พะยูน เพื่อช่วยเหลือพะยูนดังกล่าวอย่างเร่งด่วน

ดร.ปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เปิดเผยว่า วันนี้  (4 พฤษภาคม 2568 ) เจ้าหน้าที่ ทช.และ อส. ร่วมประชุมเพื่อวางแผนปฏิบัติการดังกล่าว ซึ่งจากการวินิจฉัยบาดแผลเบื้องต้นโดยทีมสัตวแพทย์ผ่านภาพถ่ายและคลิปวิดีโอ คาดว่าบาดแผลที่บริเวณหางยังสดและยังไม่มีอาการอักเสบรุนแรง จึงจำเป็นต้องรีบดำเนินการช่วยเหลือทันที  โดยในการจะล้อมจับพะยูนนั้น ต้องใช้ความระวังอย่างมาก เพราะหากพะยูนตกใจ อาจจะเกิดอาการช็อคตายได้ และหากเจออวนขวางสัญชาตญาณของพะยูนมักจะม้วนตัวลงทำให้ติดอวนได้ง่าย จึงมีการวางแผนปฏิบัติการอย่างรัดกุมเพื่อความปลอดภัยของพะยูน ผ่าน 3 แผนหลัก ได้แก่ 

แผนที่ 1 การตัดเชือกจากระยะไกล” โดยทีมสำรวจจะใช้โดรนจำนวน 3 ลำบินตรวจค้นพื้นที่บริเวณอ่าวบ้านพร้าวช่วงเวลาตั้งแต่นํ้าทะเลเริ่มขึ้น เมื่อพบพะยูนตัวที่มีเชือกพันรัด จะมีการระบุพิกัดและให้ทีมช่วยเหลือประเมินสถานการณ์ หากพะยูนอยู่ในเขตน้ำตื้นจะใช้เรือคายัคเข้าประชิดอย่างระมัดระวัง และพยายามใช้โยทะกา หรืออุปกรณ์ตะขอเกี่ยวคล้องเชือกและตัดออก หากไม่สามารถตัดเชือกได้ จะใช้อุปกรณ์คล้องเชือกและผูกทุ่นลอย เพื่อถ่วงพะยูนและมีทุ่นให้สังเกตการเคลื่อนที่ของพะยูนได้ 

แผนที่ 2 การกระโดดจับ” คือ เมื่อโดรนสํารวจพบพะยูนตัวที่ถูกเชือกพันรัด ทีมช่วยเหลือจะไล่ต้อนให้พะยูนเข้าสู่บริเวณน้ำตื้น จากนั้นทีมกระโดดจับ พร้อมควบคุมพะยูนอย่างรวดเร็ว และประคองส่วนหัวขึ้นจากน้ำ พร้อมตัดเชือกที่พันบริเวณหางออก และรีบทำการปฐมพยาบาลทันที ก่อนปล่อยตัวกลับอย่างรวดเร็ว 

ทั้งนี้ กรณีที่ไม่สามารถดําเนินการตามแผนที่ 1 และ 2 ได้สําเร็จ จะพิจารณาใช้แผน 3 คือ “การล้อมอวนและกระโดดจับ” รอจังหวะให้พะยูนเข้าบริเวณตื้นและใช้อวนล้อมจํากัดพื้นที่อย่างรวดเร็ว ซึ่งต้องเฝ้าระวังพะยูนไม่ให้ว่ายมาติดอวน โดยหลังจากปลดเชือกออกแล้ว กรม ทช.จะจัดทีมสัตวแพทย์ติดตามอาการของพะยูนอย่างใกล้ชิดต่อไป เพื่อให้แน่ใจว่าสามารถฟื้นตัวได้สมบูรณ์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

เฉลิมชัย ห่วงพะยูน ถูกเชือกพันรัด สั่งกรมทะเล เตรียมแผน ‘ตัดเชือกระยะไกล-ล้อมจับ’ เร่งช่วยพะยูนบาดเจ็บที่เกาะลิบง

  เฉลิมชัย ห่วงพะยูน ถูกเชือกพันรัด สั่งกรมทะเล เตรียมแผน ‘ตัดเชือกระยะไกล-ล้อมจับ’ เร่งช่วยพะยูนบาดเจ็บที่เกาะลิบง  ตามที่เจ้าหน้าที่ กรมทร...