กรมวิทย์ฯ บริการ รับรองห้องแล็บทดสอบทุเรียนส่งออก ตามมาตรฐานสากล ISO/IEC 17025 หนุนผลไม้ไทยสู่ตลาดโลก
กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยสำนักบริหารและรับรองห้องปฏิบัติการ (สบร.) ให้บริการรับรองความสามารถห้องปฏิบัติการทดสอบตามมาตรฐานสากล ISO/IEC 17025 พร้อมสนับสนุนและร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความเชื่อมั่นในผลการทดสอบสารย้อมสี Basic Yellow 2 (BY2) และแคดเมียม (Cadmium) ในทุเรียน จากเหตุผู้ประกอบการได้รับผลกระทบอย่างหนักเมื่อประเทศจีนตีกลับทุเรียนไทย และเพิ่มความเข้มงวดในข้อกำหนดเฉพาะเรื่องความปลอดภัยของอาหาร รวมถึงการตรวจสอบสารเคมีที่อาจมีการตกค้างหรือปนเปื้อนในผลิตผลทางการเกษตร เช่น สารกำจัดศัตรูพืช สารเร่งการเติบโต สารเคมีอื่นๆ โดยเฉพาะ Basic Yellow 2 (BY2) และ แคดเมียม (Cadmium) ซึ่งกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีแนวทางการออกใบรับรองสุขอนามัยพื้นฐานสำหรับการส่งออกทุเรียน โดยกำหนดสินค้าส่งออกไปประเทศจีนทุกตู้หรือชิปเม็นท์ ตั้งแต่วันที่ 13 มกราคม 2568 ต้องมีใบรายงานผลตรวจวิเคราะห์ (Test report) ของแคดเมียม และ สาร BY2 จากห้องปฏิบัติการที่กรมวิชาการเกษตรให้การยอมรับฯ มาแสดงต่อด่านตรวจเพื่อที่จะออกใบรับรองสุขอนามัยพืชทุกครั้ง ซึ่งประกาศได้กำหนดคุณสมบัติเบื้องต้นต้องเป็นห้องปฏิบัติการที่ได้การรับรองความสามารถตาม ISO/IEC 17025
ดร.พจมาน ท่าจีน รองอธิบดี รักษาราชการแทนอธิบดี กรมวิทยาศาสตร์บริการ กล่าวว่า กรมวิทย์ฯ บริการ เห็นความสำคัญของการพัฒนาและให้การรับรองความสามารถห้องปฏิบัติการทดสอบทุเรียน ซึ่งทุเรียนไทยถือเป็นพืชเศรษฐกิจที่นำรายเข้าประเทศลำดับต้น ๆ ของสินค้าเกษตรส่งออกทั้งหมด และประเทศจีนเป็นตลาดส่งออกที่ใหญ่ของไทย มากถึง 97% ของตลาดส่งออกทุเรียนเกือบทั้งหมด เนื่องจากผู้บริโภคนิยมและมีกำลังซื้อสูง อีกทั้งราคาทุเรียนไทยในประเทศจีนมีราคาค่อนข้างสูงและเป็นที่ต้องการ แต่ระยะหลังทุเรียนไทยต้องเผชิญปัญหาหลายอย่าง โดยเฉพาะการตรวจพบ สาร BY2 ซึ่งเป็นสีย้อมที่ใช้ในอุตสาหกรรม ไม่อนุญาตให้ใช้ในผลิตภัณฑ์อาหารหรือผลไม้สด หากพบในทุเรียนหรืออาหาร จะถือเป็นสารปนเปื้อนผิดกฎหมาย ต้องตรวจพบค่า (LOD ไม่เกิน 1 µg/kg และ LOQ ไม่เกิน 2 µg/kg) และแคดเมียมซึ่งเป็นโลหะหนักที่อาจปนเปื้อนในดิน น้ำ หรือปุ๋ยเคมีที่ใช้ในการเกษตร มาตรฐานสากลและประเทศจีนกำหนดค่าปนเปื้อนสูงสุดในอาหารและผลไม้ มีแคดเมียมต้องไม่เกิน 0.05 mg/kg
ด้านนางจันทรัตน์ วรสรรพวิทย์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารและรับรองห้องปฏิบัติการ กรมวิทย์ฯ บริการ ในฐานะหน่วยรับรองระบบงานของประเทศ กล่าวเพิ่มเติมว่า ภาครัฐควรมีนโยบายสนับสนุนให้ประเทศไทยมีห้องปฏิบัติการที่ได้รับการรับรองความสามารถห้องปฏิบัติการในการทดสอบทุเรียน และผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ครอบคลุมทุกพื้นที่ที่มีการปลูกทุเรียนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งกรมวิทย์ฯ บริการ มีความพร้อมที่จะให้การรับรองห้องปฏิบัติการตามมาตรฐานสากล เพื่อเพิ่มห้องปฏิบัติการที่มีความสามารถขึ้นทะเบียนการยอมรับฯ กับกรมวิชาการเกษตร สนับสนุนการทดสอบที่รวดเร็วทันเวลาตอบสนองความต้องการผู้ประกอบการส่งออกทุเรียนที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
#กรมวิทยาศาสตร์บริการ #กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม #กรมวิทย์ฯบริการ #กระทรวงอว #DSS #MHESI
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น