วันจันทร์ที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2568

ปรมาณูเพื่อสันติ อว. สร้างความร่วมมือห้องปฏิบัติการนิวเคลียร์ระดับโลก สหรัฐฯ เดินหน้าเตรียมความพร้อมรองรับ โรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์มาตรฐานปลอดภัยขนาดเล็ก (SMRs)

 ปรมาณูเพื่อสันติ อว. สร้างความร่วมมือห้องปฏิบัติการนิวเคลียร์ระดับโลก สหรัฐฯ เดินหน้าเตรียมความพร้อมรองรับ โรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์มาตรฐานปลอดภัยขนาดเล็ก (SMRs) 

นายแพทย์รุ่งเรือง กิจผาติ อธิบดี วศ. รรท. เลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยว่า ภายใต้นโยบายของกระทรวง อว. ที่มุ่งเสริมสร้างความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ ควบคู่ไปกับการพัฒนากฎหมายและองค์ความรู้ด้านความปลอดภัยทางนิวเคลียร์อย่างยั่งยืน ปส.อว. จึงสร้างความร่วมมือ เพื่อการพัฒนาและเรียนรู้ ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อเรียนรู้แนวปฏิบัติด้านการกำกับดูแลนิวเคลียร์จากหน่วยงานวระดับโลก อาทิ Idaho National Laboratory (INL) และ Brookhaven National Laboratory (BNL) ซึ่งมีบทบาทสำคัญในระดับสากลด้านเทคโนโลยีเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์และการจัดการความปลอดภัย เพื่อศึกษาและเรียนรู้แนวปฏิบัติที่ดีที่สุดในการพัฒนากรอบกฎหมายที่เข้มแข็ง การกำกับดูแลระบบ และก้าวทันเทคโนโลยี

การเดินทางดังกล่าวจัดขึ้นในวันที่ 24 – 27 มิถุนายน 2568 โดยมุ่งหวังให้เป็นต้นแบบการพัฒนาและยกระดับกฎหมายกำกับดูแลนโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์มาตรฐานปลอดภัยขนาดเล็ก (SMRs) ในประเทศไทย โดยเฉพาะในด้านการรองรับเทคโนโลยีใหม่ เช่น เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์กำลังขนาดเล็กแบบโมดูลาร์ (Small Modular Reactors; SMRs) ซึ่งมีมาตรฐานและความปลอดภัยสูง ที่สามารถตอบโจทย์ด้านพลังงานสะอาดและความมั่นคงทางพลังงานในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นายแพทย์รุ่งเรือง กิจผาติ กล่าวว่า การสร้างความร่วมมือ และการเรียนรู้พัฒนา ณ INL ศูนย์กลางการวิจัยด้านพลังงานนิวเคลียร์ที่มีชื่อเสียงของสหรัฐอเมริกา “ทำให้เราเห็นภาพที่ชัดเจนของระบบการกำกับดูแลที่ครอบคลุมและมีประสิทธิภาพ ซึ่งรวมถึงกระบวนการออกใบอนุญาต การตรวจสอบ และการบังคับใช้กฎหมาย” อีกทั้งคณะผู้แทนไทยได้มีโอกาสหารือกับผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยนิวเคลียร์ เกี่ยวกับการกำกับดูแล การจัดการกากกัมมันตรังสี และการพัฒนาเทคโนโลยีเครื่องปฏิกรณ์ขั้นสูง รวมถึงโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์มาตรฐานปลอดภัยขนาดเล็ก  (SMRs) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ประเทศไทยให้ความสนใจ


จากนั้น คณะได้เดินทางไปยัง BNL รัฐนิวยอร์ก เพื่อศึกษาการดำเนินงานในด้านฟิสิกส์พลังงานสูง วิทยาศาสตร์นิวเคลียร์ และระบบสนับสนุนด้านการกำกับดูแล ซึ่งช่วยเสริมภาพรวมความเข้าใจในการบริหารจัดการความปลอดภัยทางนิวเคลียร์ทั้งในระดับนโยบายและปฏิบัติการ

บทเรียนจากการเยี่ยมชม INL และ BNL จะถูกนำมาใช้เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาและปรับปรุงร่างกฎหมายและข้อกำหนดต่าง ๆ รวมถึงระบบกำกับดูแลที่ได้มาตรฐาน และเกี่ยวข้องกับการใช้พลังงานนิวเคลียร์ในประเทศไทย โดยเน้นการพัฒนากฎหมายที่มีความยืดหยุ่น ทันสมัย และระบบกำกับดูแล ที่มีธรรมาภิบาลรองรับเทคโนโลยีใหม่ และสอดคล้องกับมาตรฐานสากลของทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) ตลอดจนการความเตรียมพร้อมของประเทศไทยในการยกร่างพระราชบัญญัติความรับผิดทางแพ่งต่อความเสียหายทางนิวเคลียร์และรังสี พ.ศ. .... เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ประชาชน หากในอนาคตประเทศไทยมีแผนนำโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์มาเป็นส่วนหนึ่งของแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (Power Development Plan: PDP)” นายแพทย์รุ่งเรือง กล่าวเพิ่มเติม

ทั้งนี้ คาดว่าร่างพระราชบัญญัติความรับผิดทางแพ่งต่อความเสียหายทางนิวเคลียร์และรังสี พ.ศ. .... จะเปิดรับฟังความคิดเห็นจากภาคประชาชนในเร็ว ๆ นี้ ก่อนเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญของประเทศไทยในการเตรียมความพร้อมเข้าสู่การใช้พลังงานนิวเคลียร์อย่างปลอดภัย ยั่งยืน และเป็นที่ยอมรับในระดับสากล


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

รฟฟท. จัดโครงการ CSR "สายสีแดงร่วมส่งต่อลมหายใจให้น้องหมาน้องแมว" พร้อมมอบเงินสนับสนุน ให้แก่คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

  รฟฟท. จัดโครงการ CSR  "สายสีแดงร่วมส่งต่อลมหายใจให้น้องหมาน้องแมว" พร้อมมอบเงินสนับสนุน ให้แก่คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตร...