วันพุธที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2568

กรมวิทย์ฯบริการ เปิดเวทีวิชาการ “Microplastic Pollution and Analytical Techniques” ยกระดับห้องปฏิบัติการไทย รับมือปัญหาไมโครพลาสติก

 กรมวิทย์ฯบริการ เปิดเวทีวิชาการ “Microplastic Pollution and Analytical Techniques” ยกระดับห้องปฏิบัติการไทย รับมือปัญหาไมโครพลาสติก

22 กรกฎาคม 2568 – กรมวิทยาศาสตร์บริการ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จัดสัมมนาวิชาการเรื่อง “Microplastic Pollution and Analytical Techniques” โดยมี ดร.กนิษฐ์ ตะปะสา ผู้อำนวยการสถาบันห้องปฏิบัติการอ้างอิงแห่งชาติ เป็นประธานเปิดงาน พร้อมด้วยผู้เข้าร่วมสัมมนาทั้งจากภาครัฐ มหาวิทยาลัย และภาคเอกชน ตลอดจนผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมกว่า 120 คน จาก 33 หน่วยงาน เข้าร่วม ณ โรงแรมแมนดาริน กรุงเทพมหานคร โดยมีเป้าหมายสำคัญเพื่อส่งเสริมความรู้ ความเข้าใจ และถ่ายทอดเทคนิคการวิเคราะห์ไมโครพลาสติก ซึ่งเป็นมลพิษขนาดเล็กที่กำลังเป็นปัญหาระดับโลก

การสัมมนาครั้งนี้จัดขึ้นภายใต้โครงการพัฒนาห้องปฏิบัติการวิเคราะห์ทดสอบไมโครพลาสติกของประเทศไทย เพื่อยกระดับขีดความสามารถของห้องปฏิบัติการวิเคราะห์ของประเทศให้มีความพร้อมในการให้บริการเชิงวิชาการและการวิจัยด้านไมโครพลาสติก พร้อมทั้งสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างหน่วยงานรัฐ เอกชน และภาคการศึกษา ซึ่งเป็นการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพของประเทศ (National Quality Infrastructure: NQI)

ดร.กนิษฐ์ฯ กล่าวว่า “ไมโครพลาสติกเป็นภัยเงียบที่ส่งผลกระทบต่อทั้งสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของมนุษย์การยกระดับศักยภาพด้านการวิเคราะห์ทดสอบจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง กรมวิทยาศาสตร์บริการ ในฐานะหน่วยงานหลักด้านโครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพของประเทศ (National Quality Infrastructure: NQI) จะเดินหน้าขับเคลื่อนการพัฒนาศักยภาพห้องปฏิบัติการด้านการวิเคราะห์ไมโครพลาสติก เพื่อรองรับความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพในอนาคตอย่างเป็นรูปธรรม มุ่งมั่นที่จะพัฒนาห้องปฏิบัติการไทยให้สามารถรองรับการวิเคราะห์ไมโครพลาสติกได้อย่างถูกต้องแม่นยำ เทียบเท่าระดับสากล และสามารถให้บริการแก่ภาคส่วนต่าง ๆ ได้ในอนาคต

นอกจากนี้ ยังได้รับเกียรติจาก รศ.ดร.พิพัฒน์ นนทนาธรณ์ ที่ปรึกษาด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพสถาบันอุดมศึกษา วิจัย และนวัตกรรม หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและสร้างนวัตกรรม (บพค.) ร่วมกล่าวถึงบทบาทและแนวทางการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยี วิเคราะห์ทดสอบ และโครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพของประเทศ เพื่อยกระดับศักยภาพของห้องปฏิบัติการไทยให้สามารถตอบสนองต่อปัญหาเชิงสิ่งแวดล้อมได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ภายในงานมีการบรรยายจากผู้เชี่ยวชาญทั้งในและต่างประเทศ อาทิ Professor Kevin Thomas และ Dr.Cassandra Rauert จากสมาพันธ์วิทยาศาสตร์สุขภาพสิ่งแวดล้อมแห่งควีนส์แลนด์ (QAEHS) มหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ ประเทศออสเตรเลีย, รศ.ดร.เจนยุกต์ โล่ห์วัชรินทร์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, Professor Sandhya Babel สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, Dr.Nizar Benismail จากศูนย์ประกันคุณภาพเนสเล่ ประเทศฝรั่งเศส, ดร.วิศรุต ปิ่นรอด จากศูนย์นาโนเทคโนโลยี (NANOTEC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.), รศ.ดร.ศุภกิจ สุทธิเรืองวงศ์ ภาควิชาวัสดุศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร รวมถึง ดร.อมรพล ช่างสุพรรณ นักวิทยาศาสตร์ชำนาญการพิเศษ และ ดร.โอบเอื้อ อิ่มวิทยา นักวิทยาศาสตร์ชำนาญการ จากสถาบันห้องปฏิบัติการอ้างอิงแห่งชาติ กรมวิทยาศาสตร์บริการ

หัวข้อการบรรยายครอบคลุมทั้งภาพรวมของปัญหาไมโครพลาสติก เทคนิคการตรวจวิเคราะห์ขั้นสูง เช่น Pyrolysis-GC-MS, FTIR, Raman Spectroscopy มาตรฐาน ISO ที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนการใช้กล้องจุลทรรศน์ความละเอียดสูงสำหรับการวิเคราะห์ตัวอย่างจริงจากสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างองค์ความรู้และแนวทางการประยุกต์ใช้ในบริบทของประเทศไทย

การสัมมนาในครั้งนี้นับเป็นก้าวสำคัญของกรมวิทยาศาสตร์บริการในการแสดงบทบาทเชิงรุกด้านการวิจัยและบริการวิเคราะห์ทดสอบ โดยเฉพาะในประเด็นไมโครพลาสติกที่กำลังเป็นปัญหาสำคัญของโลก ซึ่งไม่เพียงแต่สะท้อนถึงการบูรณาการความร่วมมือระดับประเทศและนานาชาติ แต่ยังเป็นการปูพื้นฐานการสร้างห้องปฏิบัติการไทยที่มีขีดความสามารถสูง รองรับการพัฒนาเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของประชาชนในระยะยาว

#กรมวิทยาศาสตร์บริการ #กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม #กระทรวงอว #กรมวิทย์ฯบริการ #DSS #MHESI #microplastics

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น